วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Bacteria

Bacteria
แบคทีเรียคือจุลินทรีย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เป็นเซลล์แบบโปรแคริโอต (prokariotic cell)พบทั่วไปในธรรมชาติ ดิน น้ำ อากาศ แบคทีเรียมีบทบาทสำคัญต่ออาหาร และการผลิตอาหาร เพราะแบคทีเรียเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาหารเน่าเสีย (microbial spoilage) และทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ (food poisoning)ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้น การถนอมอาหาร (food preservation) ทุกวิธีเป็นเทคนิคที่ใช้เพื่อทำลาย หรือควบคุมสภาวะแวดล้อม เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย ถึงแม้มีโทษกับอาหาร แต่แบคทีเรียบางชนิด เช่น lactic acid bacteria นำมาใช้ประโยชน์อย่างมากในการหมักอาหาร (fermentation) และการบำบัดของเสีย เช่น การกำจัดน้ำเสีย (waste water treatment)
แบคทีเรียมีรูปร่างหลายแบบ ดังนี้

รูปที่1 : รูปร่างของแบคทีเรีย

1) บาซิลลัส (bacillus) มีรูปร่างเป็นท่อนหรือเป็นแท่งเช่น Bacillus, Clostridium,Pseudomonas,Salmonella 
1.1สเตรปโทบาซิลลัส (Streptobacillus) เมื่อแบ่งเซลล์แล้วเรียงตัวต่อเป็นสายยาว  
1.2ท่อนโค้ง (curverod) เช่น Vibrio 
2) ทรงกลมหรือค็อกคัส (cocus) เช่น
2.1ไมโครค็อกคัส (Micrococcus) เป็นแบคทีเรีย เซลล์เดี่ยวขนาดเล็ก
2.2ดิโพค็อกคัส (Diplococcus) เมื่อแบ่งเซลล์แล้วติดกันเป็นคู่ 
2.3สเตรปโทค็อกคัส (Streptococcus) แบ่งตัว เรียงตัวเป็นสายยาว เหมือนโซ่    
2.4สเตรฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นลักษณะของ เซลทรงกลมแบ่งตัวหลายระนาบอยู่ติดกันเป็นกลุ่มคล้ายพวงองุ่น เช่น Staphylococcus aureus
3) สไปโรคีท (Spirochete) รูปร่างบิดเป็นเกลียว ผนังเซลล์ยืดหยุ่นได้ เช่น Campylobacter jejuni                                              

แบคทีเรียทุกชนิดมีโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอบเซลล์ ได้แก่

รูปที่2 : โครงสร้างของแบคทีเรีย
1) ผนังเซลล์ (cell wall)
2) เซลล์เมมเบรน (cell membrane
3) ไซโทพลาสซึม (cytoplasm)
4) โครโมโซมเดี่ยว (single chromosome)
5) ไรโบโซม (ribosomes) 
ในแบคทีเรียบางชนิดจะมี 
1) แคปซูล (capsules)
2) ไกโคแคลิกซ์ (glycocalyx)
3) พิลไล (pili) หรือฟิมเบรีย (fimbriae)
4) มีโซโซม (mesosome)
5) แฟลกเจลลา (flagella)
6) อินคลูชันแกรนูล (inclusion granule)
7) สปอร์ (bacterial spore)

หนองใน(Gonorrhea)                                             
     โรคหนองในมีชื่อทางการแพทย์ว่า โกโนเรีย (Gonorrhea) ภาษาชาวบ้านเรียกว่าโรคบุรุษหรือโรคสตรี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่พบได้บ่อยกว่ากามโรคชนิดอื่น พบได้ทั่วโลก มีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพวกหนุ่มสาว จะติดโรคนี้มากเป็นพิเศษ
เชื้อที่ทำให้เกิดโรค : ได้แก่เชื้อแบคทีเรียประเภทตัวกลม ที่มีชื่อเรียกว่า          ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria gonorrhoeae)

รูปที่3 : Neisseria gonorrhoeae
แหล่งของโรคได้แก่มนุษย์หรือผู้ที่มีเชื้อหนองในอยู่ในร่างกาย คนที่เป็นพาหะของโรคเป็นผู้แพร่เชื้อ
การติดต่อหนองในเป็นโรคติดต่อโดยตรงจากการร่วมประเวณีกับผู้ที่เป็นโรค หรือจากการสัมผัสทางอ้อมจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น จากการใช้ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
ระยะฟักตัวของโรค : ปกติประมาณ 3 – 4 วัน บางครั้ง 9 วันหรืออาจยาวนาน 1-2 สัปดาห์
ระยะติดต่อ หากผู้ป่วยไม่ทำการรักษา การติดต่อของโรคจะนานเป็นเดือนหรือเป็นปี โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นสตรีมักจะไม่ค่อยแสดงอาการออกมาให้เห็น
ความไวต่อโรคและความต้านทาน : ผู้ที่ได้รับเชื้อมีความไวต่อการเป็นโรคนี้ เมื่อหายแล้วอาจเป็นซํ้าได้อีกเมื่อได้รับเชื้อใหม่ ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค
อาการ : หนองในเป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะเยื่อบุในท่อปัสสาวะ ในช่องคลอด และท่อปัสสาวะของหญิง     
ในผู้ชายจะมีอาการที่รุนแรง คือ ภายหลังจากรับเชื้อแล้ว 3-9 วัน จะพบว่ามีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ทำให้ถ่ายปัสสาวะลำบาก มีอาการขัดเบา เนื่องจากคันแสบหรือปวดแสบปวดร้อนในท่อปัสสาวะ ปากท่อปัสสาวะจะบวมแดงหนองอาจจะไหลเยิ้มถึงขั้นเปียกกางเกงใน                     
ประมาณ 1-2 สัปดาห์หากไม่ได้รับการรักษาหนองจะเริ่มน้อยลง แต่อาการ อักเสบยังคงอยู่ การปล่อยทิ้งไว้โรคจะดำเนินกลายเป็นเรื้อรัง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมเจ็บ อาจมีอาการปวดตามข้อ ทำให้เกิดต่อมลูกหมากอักเสบ ท่ออสุจิตีบตันและทำให้เป็นหมันได้
ในผู้หญิง อาการจะน้อยกว่าในผู้ชาย อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีแต่เพียง อาการอักเสบเวลาปัสสาวะ บางรายอาจมีหนองไหล พบว่ามีตกขาวมากหรือบางที มีนํ้าเหลืองข้นออกมาทางช่องคลอด                                
บางรายเมื่อได้รับเชื้อแล้ว 2-3 วัน จะเกิดอาการอักเสบที่ปากมดลูก และมีหนองไหล แต่ไม่ค่อยมีอาการอักเสบมากเหมือนผู้ชาย หรืออาจมีอาการอักเสบของช่องคลอดปีกมดลูกอักเสบ มีปัสสาวะแสบขัด ถ้าไม่รักษาอาจจะลุกลามต่อไปที่กระเพาะปัสสาวะและทวารหนักได้และทำให้เกิดอักเสบของปีกมดลูก เป็นผลให้ไข่เดินทางมาสู่โพรงมดลูกไม่สะดวก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคนี้ ตาของทารกจะอักเสบอาจถึงกับตาบอดได้
การตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค
1) ตรวจหาเชื้อจากหนองโดยการย้อมสีแกรม(Gram Stain) พบเชื้อ Gram negative สีแดง
2) มีการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์มีหนอง ในเพศหญิงจะพบการตกขาวออกมาเป็นหนอง มีอาการอักเสบของช่องคลอดมีการอักเสบที่ปากมดลูก ปวดท้องน้อยเนื่องจากมดลูกอักเสบ
การรักษา
1. ให้ยา โปรบีนีซิด (Probenecid) ขนาด 1 กรัม ครั้งแรก แล้วต่อมาอีก 30 นาที ให้ฉีด อเควอัส โปรเค เพนิซิลลิน จี. (Aqueous procaine penicillin G.) ขนาด 4.8 ล้านหน่วย โดย แบ่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 แห่ง
2. หรือให้ เตทตราซัยคลิน (Tetracycline HCI) 1.5กรัม รับประทานครั้งแรก แล้วตามด้วย เตทตราซัยคลิน (Tetracycline HCI) ขนาด 0.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน รวมทั้งสิ้นให้ได้รับยา 9 กรัม
3. ให้ยา แอมพิซิลลิน (ampicicllin) 2 กรัม ร่วมกับ โปรเบนีซิด (Pobenecid) 1 กรัม ควรอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์

โรคไอกรน (Whooping Cough or Pertussis)

รูปที่4 : โรคไอกรน
ไอกรนเป็นโรคติดต่อที่สำคัญอันหนึ่งของระบบทางเดินหายใจ พบมากในเด็กทุกเพศทุกวัยที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี เกิดได้ในทุกสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ ในชุมชนที่มีประชาชนอาศัย อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น มักพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้สูง โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวและต้นฤดู ใบไม้ผลิ
สาเหตุของโรคไอกรน : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยติดเชื้อโดยตรงจากละอองอากาศที่ผู้ป่วยไอและจาม รดใส่ หรือปนออกมากับเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย
เชื้อที่ทำให้เกิดโรคได้แก่เชื้อแบคทีเรีย บอร์ดีเทลลา เปอร์ตัสซิส (Bordetella Pertyssis)

รูปที่5 : Bordetella Pertyssis
การติดต่อ : เชื้อโรคอยู่ในร่างกายของผู้ป่วย โดยมักอยู่ส่วนลึกของลำคอและในหลอดลมของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การติดต่อทางตรง โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทำให้ติดต่อได้โดยตรงจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ด้วยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน
การติดต่อทางอ้อม โดยการใช้ผ้าเช็ดหน้า ภาชนะในการดื่มและรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วย หรือหายใจเอาฝุ่นละอองที่มีเชื้อโรคเข้าไป เป็นต้น
ระยะฟักตัวของโรค : ประมาณเวลา 7 วัน แต่อาจเริ่มตั้งแต่ 5-12 วัน
ระยะติดต่อ : โรคไอกรนมีโอกาสติดต่อได้มากในระยะแรกที่ผู้ป่วยมีน้ำมูก น้ำลาย แล้วค่อยๆ ลดลงถึงสัปดาห์ที่ 3 จะไม่มีการติดต่อของโรคทั้งๆ ที่ผู้ป่วยยังมีอาการไออยู่ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจแพร่เชื้อได้เป็นเวลานาน 4-6 สัปดาห์
ความไวต่อโรคและความต้านทาน : ทุกคนที่ไต้รับเชื้อมีความไวต่อการเป็นโรคไอกรน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าทารกได้รับภูมิคุ้มกันโรคนี้จากมารดาหรือถ้าได้ก็น่าจะอยู่ในระดับต่ำ                                                     
       มีการสำรวจพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี อัตราป่วยด้วยโรคนี้สูง มีอัตราการตายมากที่สุดใน กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีที่ป่วยเป็นโรคนี้ กลุ่มเพศหญิงจะมีอัตราป่วยและตายสูงกว่าเพศชาย ฉะนั้นต้องให้เด็กเล็กได้รับวัคซีนตามกำหนด ผู้ป่วยเมื่อหายจากโรคไอกรนจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคได้นาน แต่อาจเป็นซ้ำสองได้ในวัยผู้ใหญ่
อาการของโรคไอกรน : ผู้ป่วยจะมีอาการคันคอและไอ จากไอธรรมดาเป็นไอซ้อนติดต่อกันเป็นชุดๆ จนหายใจไม่ ทันเพราะน้ำมูกไหล มีเสียงหายใจเข้าดังวูบ ผู้ป่วยบางคนอาจไอจนหน้าเขียวเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีอาการมากกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่                    
       ไอกรนเป็นโรคติดต่อแบบเฉียบพลัน มีอาการของหลอดเลือดใหญ่ หลอดลมเล็ก และ แขนงหลอดลม แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเริ่มต้น (Catarrbal Sfage) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอน้ำตาไหล จาม น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ มีอาการไอแห้งเสียงดัง คล้ายเป็นหวัดในเวลากลางคืน และต่อไป จะไอในเวลากลางวันด้วย ระยะนี้กินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
2.ระยะที่สอง(Paroxysmal Stage) ผู้ป่วยจะมีอาการไอถี่ขึ้น ไอเป็นชุดจนแทบไม่ได้ พักหายใจ ไอชุดหนึ่งประมาณ 10-15 ครั้ง ทำให้พอหายไอจะหายใจเข้าปอดอย่างแรงลึกๆ เกิดเสียงดัง “วูด” หรือ ’’วี้ด” (Whoop) ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่า “ไอกรน” และจะยิ่งมีอาการไอ มากขึ้นจนหน้าเขียว เส้นโลหิตที่คอโป่ง มีโลหิตออกจากเยื่อตา และอาจอาเจียนเนื่องจากมีเสมหะมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้พักผ่อน มีอารมณ์ฉุนเฉียว ในเด็กเล็กจะร้องไห้กวน ระยะนี้กิน เวลาประมาณ 10-14 วัน
3.ระยะที่สาม (Convalescent Stage) ต่อจากช่วงที่มีอาการรุนแรงของโรคแล้ว อาการ ไอจะทุเลาลง และจะหมดอาการของโรคเมื่อครบ 3 เดือนโดยประมาณ
โรคไอกรนเทียม (Paratertussis) ลักษณะอาการของโรคในผู้ป่วยบางคนอาจไม่รุนแรง หรือเนื่องจากเกิดเชื้อบอร์ดีเทลลา เปอร์ตัสซิส (Bordetella Pertussis)
การตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค
1. สังเกตจากอาการ โดยเฉพาะอาการไอ และอาการอื่นๆของผู้ป่วย
2. ตรวจพบจำนวนเม็ดโลหิตขาวสูงประมาณ 15,000-20,000 ตัวต่อคิวบิดมิลลิเมตร และ 60-80 % เป็นเซลล์ของพวกลิมโฟไชท์
3. เมื่อนำไม้พันสำลีไปกวาดบริเวณหลอดคอส่วนจมูกแล้วนำ ไปเพาะเชื้อ จะพบเชื้อโรคนี้
การรักษา
ให้ยาอีริธโทรมัยชิน (Erythromycin) 50 มก./นน. ตัว 1 กก. ให้ ไฮเปอร์ฮีมูน แกมมา กลอบุลสิน (Hyperimmune gamma globullin) 3-6 ซีซี. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
รักษาตามอาการ ให้อาหารที่มีแคลอรี่สูง พักผ่อนให้เพียงพอ และให้ยาขับเสมหะ ยากล่อมประสาทช่วยให้ผู้ป่วยลดอาการไอ การใช้ยาควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์
วัคซีน : ในเด็กเกิดใหม่ เริ่มให้วัคซีนตั้งแต่อายุ 2-3 เดือน ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน แล้วฉีดซ้ำเมื่อครบ 1 ปีครึ่ง ต่อไปจึงฉีด 1 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 5-6 ปีตอนเข้าโรงเรียน
โรคแทรกซ้อน : ได้แก่โรคปอดบวม หูน้ำหนวก เด็กบางคนไอมากจนกินอาหารไม่ได้ จนเกิดภาวะขาดอาหาร และเจ็บชายโครงเนื่องจากไอทำให้ความตันในช่องท้องสูงอาจเกิดเป็น ไส้เลื่อนได้และทำให้ตาแดงปอดอักเสบ ถ้าเป็นวัณโรคอาการก็จะกำเริบ หากมีอาการเรื้อรังหรือ อาการของโรคหรือโรคแทรกซ้อน ควรรีบกลับไปพบแพทย์
โรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายไอกรน ได้แก่โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ หวัด วัณโรค เป็นต้น
การปฏิบัติตน :
เมื่อป่วยหรือสงสัยว่าเป็น โรคไอกรน นอกจากการรีบไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำ แนะนำเกี่ยวกับผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อ ดังกล่าวรายละเอียดไว้ในบทนำแล้ว ยังมีข้อควรทราบ   เกี่ยวกับการปฏิบัติเฉพาะโรคเพิ่มเติม ดังนี้
1.ควรจัดแยกผู้ป่วยให้อยู่ต่างหากทันทีเมื่อเห็นว่ามีอาการของโรค
2.ควรทำลายเชื้อที่ออกมากับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วจึงนำไปฝัง หรือ เผาไฟทิ้ง หรือก่อนนำไปซักล้างแล้วต้ม สำหรับข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย
การป้องกันและควบคุมโรค :นอกจากปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยง และป้องกันการรับเชื้อหรือภาวะที่ทำให้เกิดโรค ดังกล่าวรายละเอียดไว้ในบทนำแล้ว ยังมีข้อควร ทราบเพิ่มเติมเฉพาะโรค ดังนี้
1.ให้เด็กเล็กได้รับภูมิคุ้มกัน ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนและโรคอื่นๆตามกำหนด
2.ไอกรนเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กถึงชีวิต ควรให้ความระมัดระวัง ดูแลเป็นพิเศษ


โรคบาดทะยัก (Tetanus)


รูปที่6 : โรคบาดทะยัก

เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งผลิต exotoxin ที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้โรคนี้จึงมีชื่อเรียกหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้

รูปที่7 : Clostridium tetani

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งเป็น anaerobic bacteria ย้อมติดสีแกรมบวก มีคุณสมบัติที่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ (spore) ที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อหลายอย่างสามารถสามารถสร้าง exotoxin ที่ไปจับและมีพิษต่อระบบประสาท
ระบาดวิทยา : โรคบาดทะยักพบได้ทั่วไปทุกแห่ง เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในรูปแบบของสปอร์พบติดตามพื้นหญ้าทั่วไปได้นานเป็นเดือนๆ หรืออาจเป็นปี เชื้อจะพบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยจะแบ่งตัวและขับ exotoxin ออกมา เชื้อจะเจริญแบ่งตัวได้ดีในแผลลึก อากาศเข้าไม่ได้ดี เช่น บาดแผลตะปูตำ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวหนังถลอกบริเวณกว้าง บาดแผลในปาก ฟันผุ หรือเข้าทางหูที่อักเสบ โดยการใช้เศษไม้ หรือต้นหญ้าที่มีเชื้อโรคนี้ติดอยู่แคะฟันหรือแยงหู บางครั้งอาจเข้าทางลำไส้ได้ ทางเข้าที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในทารกแรกเกิดคือ เชื้อเข้าทางสายสะดือที่ตัดด้วยกรรไกร หรือของมีคมที่ไม่สะอาด ที่พบบ่อยในชนบทคือ การใช้ไม้ไผ่ หรือมีดทำครัวตัดสายสะดือและการพอกสะดือด้วยยากลางบ้าน หรือโรยด้วยแป้งที่อาจปนเปื้อนเชื้อบาดทะยัก ทำให้เชื้อเข้าสู่แผลรอยตัดที่สะดือ ทำให้เกิดโรคบาดทะยักในทารกเกิด
อาการและอาการแสดง : หลังจากได้รับเชื้อ สปอร์ที่เข้าไปตามบาดแผลจะแตกตัวออกเป็น vegetative form ซึ่งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิต exotoxin ซึ่งจะกระจายจากแผลไปยังปลายประสาทที่แผ่กระจายอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ระยะจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการเริ่มแรก คือ มีอาการขากรรไกรแข็ง ที่เรียกว่าระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-28 วัน เฉลี่ย 8 วัน
1) บาดทะยักในทารกแรกเกิดอาการมักจะเริ่มเมื่อทารกอายุประมาณ 3-10 วัน อาการแรกที่จะสังเกตได้คือ เด็กดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม ทั้งนี้เพราะมีขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ต่อมาเด็กจะดูดไม่ได้เลย หน้ายิ้มแสยะ (Risus sardonicus หรือ Sardonic grin) เด็กอาจร้องครางต่อมาจะมีมือ แขน และขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้าเป็นมากจะมีอาการชักกระดุกและหน้าเขียวอาการเกร็งหลังแข็งและหลังแอ่นนี้จะเป็นมากขึ้น ถ้ามีเสียงดังหรือเมื่อจับต้องตัวเด็ก อาการเกร็งชักกระดุกถ้าเป็นถี่ๆ มากขึ้น จะทำให้เด็กหน้าเขียวมากขึ้น ทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้เพราะขาดออกซิเจน
2) บาดทะยักในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เมื่อเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคก่อนที่จะมีอาการประมาณ 5-14 วัน บางรายอาจนานถึง 1 เดือน หรือนานกว่านั้นได้ จนบางครั้งบาดแผลที่เป็นทางเข้าของเชื้อบาดทะยักหายไปแล้ว อาการเริ่มแรกที่จะสังเกตพบคือ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ มีคอแข็ง หลังจากนี้ 1-2 วัน ก็จะเริ่มมีอาการเกร็งแข็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายคือ หลัง แขน ขา เด็กจะยืนและเดินหลังแข็ง แขนเหยียดเกร็งให้ก้มหลังจะทำไม่ได้ หน้าจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายยิ้มแสยะและระยะต่อไปก็อาจจะมีอาการกระตุกเช่นเดียวกับในทารกแรกคลอด ถ้ามีเสียงดังหรือจับต้องตัวจะเกร็ง และกระดุกมากขึ้น มีหลังแอ่น และหน้าเขียว บางครั้งมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้มีการหายใจลำบากถึงตายได้
การวินิจฉัยโรค : อาจจะเพาะเชื้อ C.tetani ได้จากแผล โดยทั่วไปแล้วมักจะเพาะเชื้อไม่ได้ การวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงอาศัยอาการทางคลินิก            โรคบาดทะยักจะวินิจฉัยแยกโรคจากโรคสมองอักเสบได้จากการที่โรคบาดทะยักไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับการรู้สติ นอกจากในรายที่ชักมากจนสมองขาดออกซิเจน
การรักษา :                                                                                  
1) การปฏิบัติก่อนที่จะนำไปพบแพทย์ ถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ดูดนมและไม่อ้าปากแสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืนหรือกรอกนม เพราะอาจจะทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องตัวโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะจะทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้      
2) การรักษาเฉพาะให้ tetanus antitoxin (TAT) 10,000-20,000 หน่วยเข้าหลอดเลือด หรือให้ tetanus immune globulin (TIG) 3,000-6,000 หน่วยกล้ามเนื้อ เพื่อให้ไปทำลาย tetanus toxin ที่ยังไม่จับที่ระบบประสาทให้ยาปฏิชีวนะ penicillin ขนาดสูง เพื่อทำลายเชื้อ C.tetani ที่บาดแผล      
3) ให้การรักษาตามอาการ ให้ยาระงับชัก ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ งดอาหารและน้ำทางปาก ในขณะที่มีอาการเกร็งหรือชักให้อาหารทางหลอดเลือด 
4) ดูแลเรื่องการหายใจ
หมายเหตุ: ก่อนให้ antitoxin ต้องทำ skin test
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Criteria)                 
วิธีเพาะเชื้อ (Culture) โดยเก็บตัวอย่างเข้าไปลึก ๆ ที่แผล เนื่องจากเชื้อเป็น Anaerobe ใส่ใน Stuart transport media หรือภาชนะที่มีฝาปิดแต่ต้องรีบส่ง การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำในกรณีที่มีบาดแผลโดยจะพบเชื้อได้ประมาณ 30 % แต่การแปรผลจากการพบเชื้ออาจจะเป็นเชื้อที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสาเหตุของบาดทะยักในครั้งนี้ก็ได้ ฉะนั้นการวินิจฉัยบาดทะยักจึงไม่จำเป็นต้องใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การควบคุมป้องกัน :
1) เมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาดเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อถ้าแผลลึกต้องใส่ drain ด้วย
2) ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน ?-1 ชั่วโมง รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็คด้วย alcohol 70 % เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่างๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือ
3) ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาให้ tetanus toxoid (T) ป้องกันโรคบาดทะยักให้ครบและให้ TAT หรือ TIG ในรายที่แผลใหญ่สกปรกมาก ในรายที่เคยได้วัคซีนมาแล้วครบ 4-5 ครั้ง ในระยะ 5-10 ปี ให้วัคซีน T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียว ในรายที่ได้วัคซีนนานเกิน 10 ปี และมีบาดแผลมานานเกิด 24 ชั่วโมงให้ T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียวพร้อมกับให้ TAT ด้วย
4) ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยักต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ
การป้องกันที่ดีที่สุด คือให้วัคซีนป้องกัน DTP ตั้งแต่อายุ 2, 4 และ 6 เดือนและเพิ่มอีก 2 ครั้งเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นอาจให้ทุก 10 ปี โดยให้เป็น T หรือ dT                                                        
      สำหรับการป้องกันบาดทะยักในทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด คือการคลอดและตัดสายสะดือโดยถูกต้อง สะอาด ดูแลสะดือดังกล่าวข้างต้น และที่ได้ผลดีคือการให้ T แก่หญิงมีครรภ์ โดยให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน ครั้งสุดท้ายควรจะต้องให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ T 2 ครั้ง ตามกำหนดนี้จะสร้าง antitoxin ซึ่งจะผ่านไปยังทารกแรกเกิดในระดับที่สูง พอที่จะป้องกันโรคบาดยะยักได้ และ antitoxin จะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันได้นานถึง 3 ปี แต่เพื่อให้แน่ใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงและอยู่นาน ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ฉีด T เข็มที่ 3 ในระยะ 6-12 เดือน หลังเข็มที่ 2 ซึ่งอาจจะให้ในระยะหลังคลอด การได้รับ 3 ครั้ง จะทำให้ระยะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 5-10 ปี ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดสูง จะแนะนำให้ T แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ 3 ครั้ง 2 ครั้งแรกห่างกัน 1 เดือน ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน





โรคคอตีบ (Diphtheria)

รูปที่8 : โรคคอตีบ
โรคคอตีบหรือดิพทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ และจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย
รูปที่9 : Clostridium tetani

สาเหตุ : โรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheria  
(C. diphtheriae) ซึ่งมีรูปทรงแท่งและย้อมติดสีแกรมบวก มีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษ (toxogenic) และไม่ทำให้เกิดพิษ (nontoxogenic) พิษที่ถูกขับออกมาจะชอบไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตาย                                                         
ระบาดวิทยา : เชื้อจะพบอยู่ในคนเท่านั้นโดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ โดยไม่มีอาการ (carrier) ติดต่อกันได้ง่ายโดยการได้รับเชื้อโดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด ในกลุ่มชนที่มีฐานะไม่ดี เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนจะติดเชื้อได้ตั้งแต่เล็กหลังจากภูมิต้านทานจากแม่ หมดลง ในประเทศที่ยังพบโรคนี้ได้ชุกชุมส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุระหว่าง 1-6 ปี สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระดับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบสูง โรคนี้จะหมดไปหรือพบได้น้อยมาก ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคได้ลดลงมาก ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่พบจะอยู่ในชนบทหรือในชุมชนแออัด เป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ และพบในเด็กโตได้มากขึ้น
      ถึงแม้อุบัติการณ์ของโรคจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนทุกแห่ง แต่อัตราป่วยตาย (case-fatality rate) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ คือ ประมาณร้อยละ 10
     ระยะ ฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2-5 วัน อาจจะนานกว่านี้ได้ เชื้อจะอยู่ในลำคอของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานถึงหลายเดือนได้ ผู้ที่ได้รับการรักษาเต็มที่เชื้อจะหมดไป ภายใน 1 สัปดาห์
อาการและอาการแสดง
            หลังระยะฟักตัวจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ
    ตำแหน่งที่จะพบมีการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ
1) ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น
2) ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้
3) ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู

โรคแทรกซ้อน
1) ทางเดินหายใจตีบตัน
2) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
3) ปลายประสาทอักเสบ ทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อ
การวินิจฉัยโรค
        อาศัยอาการทางคลินิก มีไอเสียงก้อง เจ็บคอ ตรวจพบแผ่นเยื่อในลำคอ บริเวณทอนซิลและลิ้นไก่ (uvula) มีอาการของทางเดินหายใจตีบตัน การวินิจฉัยที่แน่นอนคือการเพาะเชื้อ C. diphtheriae โดยใช้ throat swab เชื้อบริเวณแผ่นเยื่อหรือใต้แผ่นเยื่อ หรือจากแผ่นเยื่อที่หลุดออกมา เนื่องจากต้องใช้มีเดียพิเศษในการเพาะเชื้อ จึงควรจะต้องติดต่อแจ้งห้องปฏิบัติการเมื่อนำส่ง specimen เมื่อเพาะได้เชื้อ C. diphtheriae จะต้องทดสอบต่อไปว่าเป็นสายพันธุ์ที่สร้าง exotoxin
การรักษา
       เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์จะต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว ผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นมาก่อนได้รับการรักษา
1) การให้ diphtheria antitoxin (DAT)* เมื่อแพทย์ตรวจและสงสัยว่าเป็นคอตีบ จะต้องรีบให้ DAT โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไปทำลาย exotoxin ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทั้งนี้ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขนาดของ DAT ที่ให้อยู่ระหว่าง 10,000-20,000 หน่วย โดยพิจารณาตามความรุนแรงของโรค
หมายเหตุ *การให้ antitoxin ต้องทำ skin test
2) ให้ยาปฎิชีวนะเพนนิซิลิน ฉีดเข้ากล้ามเป็นเวลา 14 วันถ้าแพ้เพนนิซิลิน ให้ erythromycin แทน ยาปฏิชีวนะจะไปทำลายเชื้อ C. diphtheriae
3) เด็กที่มีโรคแทรกซ้อนจากการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ จะต้องได้รับการเจาะคอเพื่อช่วยให้หายใจได้ ส่วนโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและทางเส้นประสาท ให้การรักษาประคับประคองตามอาการโรคแทรกซ้อนทางหัวใจนับเป็นสาเหตุสำคัญของ การตายในโรคคอตีบ
4) เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์ที่ 2
การป้องกัน
1) ผู้ที่มีอาการของโรคจะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังเริ่มมีอาการ หรือตรวจเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้ว อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่ จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค (DTP หรือ dT) แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน
2) ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เนื่องจากโรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน ในผู้ที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หรือได้ไม่ครบ ควรให้ยาปฏิชีวนะ benzathine penicillin 1.2 ล้านหน่วย ฉีดเข้ากล้าม หรือให้กินยา erythromycin 50 มก./กก/วัน เป็นเวลา 7 วัน พร้อมทั้งเริ่มให้วัคซีน เมื่อติดตามดูพบว่ามีอาการ และ/หรือตรวจพบเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว พร้อมกับให้ diphtheria antitoxin เช่นเดียวกับผู้ป่วย
3) ในเด็กทั่วไป การป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

รูปที่10 : เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) หมายถึง แผ่นเยื่อบาง ๆ ที่ห่อหุ้มเนื้อสมอง และไขสันหลังไว้ ถ้าเยื่อนี้เกิดการติดเชื้ออักเสบ เราเรียกว่า เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคนี้นับว่าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งยังพบได้บ่อยในบ้านเราในคนทุกวัย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจตายหรือพิการได้
รูปที่11 : Tuberculous meningitis
สาเหตุ : เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค (Tuberculous meningitis) เกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งมักจะแพร่กระจายจากปอด หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมาที่เยื่อหุ้มสมองโดยผ่านทางกระแสเลือด โรคนี้มักจะมีอาการค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ อาจกินเวลาเป็นสัปดาห์ แต่ผู้ป่วยมักจะมาหาหมอเมื่อมีอาการรุนแรง จึงทำให้มีอัตราตาย หรือพิการค่อนข้างสูง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในเด็กอายุ 1-5 ปี
อาการ : อาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนมาก และคอแข็ง (คอแอ่นไปข้างหลัง และก้มไม่ลง) ผู้ป่วยส่วนมากจะบ่นปวดทั่วศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีการเคลื่อนไหวของศีรษะ (เช่น ก้มศีรษะ) มักจะปวดติดต่อกันหลายวัน และอาจรู้สึกปวดคล้ายศีรษะจะระเบิด กินยาแก้ปวดก็ไม่ช่วยให้ทุเลา ส่วนอาการไข้ อาจมีไข้สูงตลอดเวลาหรือไข้ต่ำ ๆ ก็ได้ แล้วแต่สาเหตุ ถ้ามีสาเหตุจากพยาธิอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย สับสน ซึมเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดสติ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการกลัวแสง เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาตหรือชักติด ๆ กันนาน ๆ ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อาการอาจไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้สูง กระสับกระส่าย ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน ชัก และกระหม่อมโป่งตึง อาจตรวจไม่พบอาการคอแข็ง ในผู้ป่วยที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดเป็นหนอง อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือเจ็บคอนำมาก่อนสัก 12-14 ชั่วโมง แล้วจึงเกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส (Meningococcal meningitis) อาจมีผื่นแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย และอาจเกิดภาวะช็อกอย่างรวดเร็ว โรคนี้อาจพบระบาดได้ สามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ชาวบ้านเรียกว่า ไข้กาฬหลังแอ่น (แปลว่า ไข้ออกผื่น ร่วมกับอาการหลังแอ่น หรือ คอแอ่น คอแข็ง) ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส มักมีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลันด้วย อาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึม หรือ ชัก ส่วนมากจะมีอาการอยู่ประมาณ 2 วันถึง 2 สัปดาห์ แล้วจะค่อย ๆ หายจนเป็นปกติ ส่วนน้อยอาจมีโรคแทรกซ้อน ถ้ามีสาเหตุจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา มักจะมีอาการเป็นไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน นำมาก่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมาจึงมีอาการคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง หรือชัก ถ้ามีสาเหตุจากพยาธิ มักมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง บางคนอาจมีอาการอัมพาตของใบหน้าหรือแขนขา ถ้ามีสาเหตุจากตัวจี๊ด อาจมีประวัติ อาการของโรคพยาธิตัวจี๊ด นำมาก่อน
สิ่งส่งตรวจ : ไข้สูง ซึม คอแข็ง แขนขาเป็นอัมพาต ชัก
อาการแสดง : มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือได้รับการรักษาช้าไป มักพบในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อวัณโรค, เชื้อเมนิงโกค็อกคัส) เชื้อราและพยาธิ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก ตาเหล่ ปากเบี้ยว โรคลมชัก , สมองพิการ , ปัญญาอ่อน, น้ำคั่งในสมองหรือไฮโดรเซฟาลัส (hydrocephalus), ฝีในสมอง เป็นต้น
การรักษา : หากสงสัยให้ส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้ามีอาการชักควรฉีดไดอะซีแพม เข้าหลอดเลือดดำหรือทางทวารหนักเพื่อลดอาการชักเกร็ง ถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือช็อก ให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย มักจะต้องทำการวินิจฉัยโดยการเจาะหลัง (lumbar puncture) ซึ่งจะพบว่าน้ำไขสันหลังขุ่น และวัดดูความดันน้ำไขสันหลังจะพบว่าสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ ควรนำน้ำไขสันหลังไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพาะเชื้อและหาสารเคมี เพื่อแยกแยะสาเหตุ ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยารักษาวัณโรค นาน 6-9 เดือน ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อรา ได้แก่ แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะให้การรักษาตามอาการ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ถ้าเกิดจากพยาธิ ไม่มียาโดยเฉพาะ จะให้การรักษาตามอาการและทำการเจาะหลังซ้ำบ่อย ๆ เพื่อลดความดันน้ำไขสันหลังให้กลับลงสู่ปกติ หลังเจาะผู้ป่วยจะรู้สึกอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
คำแนะนำ
โรคนี้จัดเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ถ้าหากให้การรักษายิ่งช้าก็ยิ่งมีอันตราย ดังนั้น ถ้าพบคนที่มีอาการปวดศรีษะ หรืออาเจียนอย่างรุนแรงที่ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
การป้องกัน
1. การป้องกันมิให้เป็นวัณโรค โดยการฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิด และถ้าเป็นวัณโรค ควรรักษาให้หายขาด เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
2. ป้องกันมิให้เป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด และโรคพยาธิแองจิโอ โดยการไม่กิน กุ้ง ปลา หรือหอยโข่งดิบ
3. ถ้าเป็นโรคหูน้ำหนวก หรือหูชั้นกลางอักเสบ ควรรีบรักษา อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเข้าสมอง
4. ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัส (ใกล้ชิด) ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น ควรให้ยาปฏิชีวนะ ไรแฟมพิซิน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น